วันพุธที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2556

ข้อเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ , พลังงาน และ ความไม่สงบ ๓ จชต. ของ นายกรัฐมนตรี


ข้อเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ , พลังงาน และ ความไม่สงบ ๓ จชต
โดย พันเอก ฤทธี  อินทราวุธ
รองผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีทางทหาร
นักศึกษาวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร ๒๕๕๕

ตามที่ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ได้เคยฝากการบ้านเมื่อวันเปิดหลักสูตรการศึกษาฯ ให้กับนักศึกษาวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร ๒๕๕๕ เกี่ยวกับปัญหาความมั่นคงของประเทศ ๘ ประเด็น  คือ ด้านเศรษฐกิจ ,  ด้านพลังงาน , ด้านอาหาร , ด้านสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติ , ด้านทรัพยากรมนุษย์ , ด้านการป้องกันประเทศ , ปัญหาความไม่สงบใน ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ และการเตรียมความพร้อมการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน นั้น
นักศึกษาวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร ๒๕๕๕ จึงขออนุญาตนำเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาประเด็นที่สำคัญและเร่งด่วน จำนวน ๓ ด้าน ดังนี้

๑. ความมั่นคงด้านเศรษฐกิจ
สำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ ( United Nations Development Program ; UNDP ) ได้ให้ความหมายของ ความมั่นคงด้านเศรษฐกิจ ( Economic security ) หมายถึง ประชาชนมีรายได้พอเพียงแก่การยังชีพ และมีหลักประกันการมีงานทำ หรือการประกันสังคม
ดังนั้นปัญหาราคายางพารา ปัญหาการรับจำนำข้าว ปัญหาราคาพืชผลทางการเกษตร ตลอดจนปัญหาค่าแรงขั้นต่ำ จึงเป็นปัญหาเศรษฐกิจที่สำคัญ และวนเวียนซ้ำซาก ซึ่งส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพทางการเมืองของรัฐบาลในปัจจุบัน
ปัจจัยสำคัญที่เป็นตัวแปรของปัญหาพืชผลทางการเกษตร และปัญหาแรงงาน คือ คุณภาพและปริมาณ ซึ่งส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิต , ราคาขายที่คุ้มค่าและเป็นธรรมต่อผู้บริโภค
แนวทางการแก้ปัญหา รัฐบาลจะต้องมี นโยบายส่งเสริมด้านการบริหารจัดการพืชผลทางการเกษตร เช่น ด้านต้นทุนการผลิต , ด้านคุณภาพผลผลิต , ด้านการแปรรูปผลผลิต , ด้านปริมาณผลผลิต  และด้านกลไกการตลาด ที่มีความต่อเนื่องและยั่งยืน โดยออกเป็น มาตรการกำหนดและควบคุมพื้นที่เพาะปลูก ( Crops Zoning ) เพื่อควบคุมปริมาณและคุณภาพผลผลิตให้สอดคล้องกับสภาพพื้นที่และความต้องการของตลาด , มาตรการเพิ่มคุณภาพผลผลิต ( Quality Value ) ด้วยเทคโนโลยีการผลิตที่ทันสมัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อประกันราคาผลผลิต, มาตรการเพิ่มผลผลิตนอกฤดูกาล ( Out of Season Products ) ด้วยเทคโนโลยีการเพาะปลูกนอกฤดูกาลและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อเพิ่มมูลค่าผลผลิต, มาตรการเพิ่มพื้นที่และปริมาณผลผลิตพืชปลอดสารเคมี ( Organic Plants ) ด้วยเทคโนโลยีชีวภาพที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อรองรับความต้องการตลาดด้านอาหารและผลิตภัณฑ์แปรรูปอื่นๆ , มาตรการด้านการเพิ่มมูลค่าผลผลิต ( Added Value ) ด้วยเทคโนโลยีแปรรูปผลผลิตที่ทันสมัย เพื่อรองรับความต้องการของตลาด และมาตรการด้านการส่งเสริมการตลาดทั้งระดับท้องถิ่น ภายในและภายนอกประเทศ  ( Marketing Share ) โดยมอบหมายให้หน่วยงานราชการและองค์กรเอกชนที่เกี่ยวข้อง จัดทำแผนบูรณาการบริหารจัดการเชิงคุณภาพและการตลาดที่ยั่งยืน
สำหรับนโยบายส่งเสริมวิชาชีพแรงงาน จะต้องมี มาตรการส่งเสริมระบบการศึกษาด้านวิชาชีพ สายอาชีวะ ที่ชัดเจน มั่นคง ต่อเนื่อง และยั่งยืน , มาตรการส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงานเฉพาะด้าน ให้สอดรับกับตลาดแรงงานปัจจุบันและในอนาคต  และมาตรการส่งเสริมการยกระดับแรงงานไร้ฝีมือสู่แรงงานฝีมือ เพื่อรองรับเทคโนโลยีที่ทันสมัย  โดยมอบหมายให้หน่วยงานราชการและองค์กรเอกชนที่เกี่ยวข้อง จัดทำแผนบูรณาการบริหารจัดการแรงงานเชิงคุณภาพและตลาดแรงงานที่ยั่งยืน

๒. ความมั่นคงด้านพลังงาน – Green Economy
ปัญหาด้านพลังงาน เป็นปัญหาสำคัญประเทศซึ่งส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพทางการเมืองของรัฐบาลในปัจจุบัน และความมั่นคงของชาติในอนาคต เพราะเป็นปัจจัยของการพัฒนาประเทศในด้านต่างๆ โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ , ด้านสังคมจิตวิทยา และด้านความมั่นคงทางการทหาร
การอุดหนุน , การเยียวยา และการขึ้นราคาน้ำมันเชื้อเพลิง , ก๊าซหุงต้มครัวเรือน , ค่า FT การใช้กระแสไฟฟ้า ฯลฯ เป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าของรัฐบาล ซึ่งส่งผลกระทบต่อประชาชนโดยตรง และเศรษฐกิจของในภาพรวม ทั้งระยะสั้นและระยะยาว
ปัจจัยสำคัญที่เป็นตัวแปรของปัญหาด้านพลังงาน คือ ปริมาณการบริโภคพลังงานซึ่งจะต้องเติบโตไปตามความเจริญของประเทศ , นโยบายส่งเสริมการผลิตและการใช้พลังงานทางเลือก ( Alternative Energy ) ไม่เป็นรูปธรรมชัดเจน , ปัญหาการนำใบอนุญาตการผลิตกระแสไฟฟ้าเพื่อการจำหน่ายไปใช้เพื่อการเก็งกำไรมากกว่าการผลิต , ประเทศไทยเป็นประเทศนำเข้าพลังงานเชื้อเพลิงเป็นหลัก และแหล่งผลิตพลังงานไฟฟ้าของประเทศมีจำกัด
แนวทางการแก้ปัญหา รัฐบาลจะต้องมีนโยบายเร่งรัดการส่งเสริมการผลิตและการใช้พลังงานทางเลือกให้เกิดความเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน ต่อเนื่อง และยั่งยืน โดยเฉพาะ ไบโอดีเซล ( Biodiesel )  , แก๊สโซฮอล ( Gasohol ) , แก๊สชีวมวล ( Biomass Gas ) , แก๊สชีวภาพ ( Bio Gas ) , โซล่าเซลล์ ( Solar cells ) , กังหันลม ( Wind Turbine )  ฯลฯ รวมถึงนโยบายการสร้างแหล่งผลิตพลังงานไฟฟ้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ที่ต่อเนื่องและยั่งยืน โดยกำหนด มาตรการเร่งรัดการส่งเสริมการผลิตและการใช้พลังงานทางเลือกต่างๆ ให้เกิดความเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน ครบวงจร และเกิดผลสัมฤทธิ์ที่เป็นรูปธรรม อาทิเช่น ไบโอดีเซล และ แก๊สโซฮอล รัฐบาลจะต้องกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจน ตั้งแต่ ปริมาณผลผลิตของพืชพลังงานที่เกี่ยวข้อง , ปริมาณการแปรรูปผลผลิตสู่ผลิตภัณฑ์ , ปริมาณการใช้ และอุตสาหกรรม , ยานพาหนะ และอุปกรณ์ที่ใช้ผลิตภัณฑ์ รวมถึงมาตรการเร่งรัดการส่งเสริมการผลิตไบโอดีเซลในระดับชุมชนขึ้นมาอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อรองรับการใช้พลังงานในภาคเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมพื้นบ้าน ระดับท้องถิ่น อาทิเช่น รถอีแต๋น , ปั้มสูบน้ำ , โรงสีข้าว , โรงรีดแผ่นยาง ,โรงงานขนาดเล็ก , รถปิกอัพ ฯลฯ
ด้านการผลิตกระแสไฟฟ้าด้วย ก๊าซชีวมวล , แก๊สชีวภาพ , พลังงานแสงอาทิตย์ , พลังงานลม ฯลฯ รัฐบาลจะต้องกำหนดมาตรการส่งเสริมการผลิตและการใช้พลังงานให้เกิดความเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน ตั้งแต่ระดับครัวเรือน ไปจนถึงระดับการผลิตเพื่อการจำหน่ายให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ( EGAT ) โดยรัฐบาลอาจจะต้องลงทุนสร้างฟาร์มผลิตพลังงานเอง หรือโครงการอุดหนุนทุนการผลิต ระดับครัวเรือน , ระดับชุมชน , ระดับผู้ประกอบการ SME หรือโครงการร่วมทุนขนาดใหญ่ ( Mega Project ) เพื่อทดแทนแหล่งผลิตพลังงานไฟฟ้าของประเทศมีจำกัด
สำหรับปัญหาการนำใบอนุญาตการผลิตกระแสไฟฟ้าเพื่อการจำหน่ายไปใช้เพื่อการเก็งกำไรมากกว่าการผลิต รัฐบาลจะต้องออก มาตรการบังคับหรือยกเลิกใบอนุญาตดังกล่าว และการออกใบอนุญาตใหม่ให้ครอบคลุมพื้นที่รองรับสายส่งไฟฟ้า ( Grid Line ) เพื่อให้เกิดการผลิตกระแสไฟฟ้าอย่างเป็นรูปธรรมที่ชัดเจนตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ หรือเปิดโอกาสให้ผู้ลงทุนรายใหม่ๆ มีโอกาสสร้างแหล่งพลังงานเพิ่มขึ้นเพื่อรองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้น ดีกว่าปล่อยให้ผู้ที่ถือครองใบอนุญาตเดิมเพื่อเก็งกำไร ทำให้ประเทศชาติเสียโอกาส
การมอบหมายให้หน่วยงานราชการและองค์กรเอกชนที่เกี่ยวข้อง จัดทำแผนบูรณาการบริหารจัดการการผลิตและการใช้พลังงานทางเลือกที่ยั่งยืน จะต้องมีการติดตามและประเมินผลอย่างต่อเนื่อง

๓. ปัญหาความไม่สงบใน ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้
ปัญหาการก่อเหตุความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ (จชต.) เป็นปัญหาด้านความมั่นคงของประเทศที่เรื้อรังมานาน และทุกรัฐบาลได้ดำเนินการแก้ไขปัญหามาโดยตลอดประเด็นสำคัญที่เป็นกลไกของการแก้ไขปัญหาดังกล่าว อยู่ที่กำลังอำนาจแห่งชาติด้านต่างๆ ซึ่งนโยบายการแก้ไขปัญหาของรัฐบาล และการใช้กลไกกำลังอำนาจแห่งชาติ ด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคมจิตวิทยา และการทหาร เพื่อเป็นเครื่องมือในการดำเนินการแก้ไขปัญหาความรุนแรงในที่ผ่านมาของหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ ยังไม่สอดคล้องกับสภาพมูลเหตุ และลำดับความสำคัญของปัญหา ตลอดจนการใช้กำลังอำนาจแห่งชาติในด้านต่างๆ ยังขาดความสมดุล ไม่สอดรับกับน้ำหนักความสำคัญของปัญหา โดยให้น้ำหนักการใช้กำลังอำนาจแห่งชาติในด้านการทหารเป็นหลักเช่นในอดีต ส่งผลกระทบทางด้านลบทางด้านสังคมจิตวิทยา สร้างเงื่อนไขและขยายปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่ให้ทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น รัฐบาลเริ่มมองเห็นว่า แนวทางการดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าวไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร จึงได้ปรับยุทธศาสตร์ นโยบาย และแนวทางการปฏิบัติ โดยให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาความรุนแรงด้วยนโยบายการเมืองนำการทหาร ซึ่งเป็นแนวทางที่ถูกต้อง แต่การแปลงนโยบายไปสู่การปฏิบัติ  ซึ่งมีปัจจัย และองค์ประกอบของสภาพแวดล้อมทางสังคมที่มีความเป็นอัตลักษณ์ มีความแตกต่างในหลายๆ ด้าน รวมถึงการปฏิบัติงานร่วมกันระหว่างหน่วยงาน องค์กร ทั้งภาครัฐ ธุรกิจเอกชน และประชาชน ยังขาดการบูรณาการและจัดการความรู้จากบทเรียนการปฏิบัติงานที่ผ่านมา ทำให้เกิดปัญหาวนเวียนซ้ำซาก และไม่มีแนวทางการปฏิบัติงานที่ชัดเจน
การแก้ปัญหาความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ จึงได้ข้อสรุปว่า จะต้องแก้ด้วยการเมืองนำการทหาร การเมืองการปกครองเป็นหัวใจสำคัญของปัญหาความขัดแย้งทางสังคมและปัญหาเศรษฐกิจ ซึ่งมาตรการสุดท้ายที่จะนำมาใช้ในการแก้ไขปัญหาคือ การใช้มาตรการทางทหาร การแก้ปัญหาการปกครองต้องคำนึงถึง ๓ องค์ประกอบ คือ ความสมดุลของกำลังอำนาจแห่งชาติในด้านต่างๆ ทั้งด้านการเมือง-การปกครอง ด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคมจิตวิทยา และด้านการทหาร , การให้ความสำคัญกับปัจจัยวัฒนธรรม และการคำนึงถึงปัญหาอำนาจรัฐในการแก้ปัญหา , การใช้กำลังอำนาจแห่งชาติด้านเศรษฐกิจเพื่อเป็นเครื่องมือส่งเสริมและสนับสนุนการแก้ปัญหา และการใช้กำลังอำนาจแห่งชาติด้านการทหารจะพยายามใช้เท่าที่จำเป็น
ข้อเสนอแนะเชิงโครงสร้าง โดยเฉพาะด้านนโยบายที่สำคัญและสอดรับกับการใช้กำลังอำนาจแห่งชาติที่สมดุล ๔ ด้าน ซึ่งประกอบด้วยมาตรการเร่งด่วนที่สำคัญในแต่ละด้าน และข้อเสนอเชิงกระบวนการ เพื่อกำหนดหน้าที่ ความรับผิดชอบ และแนวทางการดำเนินการของหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในบูรณาการและการใช้กำลังอำนาจแห่งชาติทั้งมวล เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่รัฐ ในการขจัดปัญหาความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการปฏิบัติงาน โดยรัฐบาลควรจะต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง มีดังนี้
๑. นโยบายปกครองและบริหารงานแบบธรรมาภิบาลเพื่อสันติสุขในพื้นที่ จชต.
๑.๑ มาตรการปกครองและการบริหารแบบธรรมาภิบาล เพื่ออำนวยการแก้ปัญหาโดยมีความชอบธรรม และสันติ
๑.๒ มาตรการติดตามและเร่งรัด ๑๗ กระทรวง และ ๖๖ หน่วยงาน ให้เข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น รวมทั้งจัดทำแผนงาน/โครงการบูรณาการให้ตรงกับ ๒๙ เป้าหมาย ยุทธศาสตร์ร่วม
๑.๓ มาตรการลงโทษข้าราชการที่ทุจริตและประพฤติมิชอบอย่างเด็ดขาด  เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและความโปร่งใส
๑.๔ มาตรการเปิดช่องทางพูดคุย เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาความรุนแรงในพื้นที่
๑.๕ มาตรการสร้างแรงจูงใจในการเข้าสู่กระบวนการแก้ไขปัญหา เพื่อหาทางออกไปสู่สันติ
๑.๖ มาตรการบูรณาการกฎหมาย ให้มีความเป็นเอกภาพ
๑.๗ มาตรการบังคับใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพ เท่าเทียม เป็นธรรม และเสมอภาค
๑.๘ มาตรการสร้างความเชื่อมั่นในกระบวนการปกครองให้เป็นที่พึ่งของประชาชน
๑.๙ มาตรการส่งเสริมกระบวนการมีส่วนร่วมระหว่างรัฐและประชาชน
๒. นโยบายผสมผสานความเป็นอัตลักษณะกับความเป็นไทยสู่สากล
๒.๑ มาตรการส่งเสริมความเท่าเทียมทางสังคม
๒.๒ มาตรการสร้างสำนึกร่วมในการเป็นคนไทยมีส่วนร่วมในการเป็นเจ้าของประเทศ และได้รับผลประโยชน์เท่าเทียมกัน  
๒.๓ มาตรการสร้างความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมให้เป็นที่พึ่งของประชาชน
๒.๔ มาตรการคุ้มครองความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน และมีอิสรเสรีภาพในการการดำรงอยู่ในชีวิตประจำวัน
๒.๕ มาตรการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันภัยทางสังคม
๒.๖ มาตรการพัฒนา ส่งเสริมการศึกษาในทุกระดับที่สอดคล้องกับความต้องการ วิถีชีวิต และวัฒนธรรมของพื้นที่ ตลอดจนการก้าวข้ามสู่ความเป็นสากล
๒.๗ มาตรการเสริมสร้างความสัมพันธ์กับมวลชน สื่อภาครัฐและเอกชน สถาบัน การศึกษา สถาบันทางศาสนา ตลอดจนเวทีสาธารณะ เพื่อเผยแพร่ความเข้าใจ ตามหลักการเข้าใจ เข้าถึง พัฒนา
๒.๘ มาตรการเสริมสร้างความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน กลุ่มประเทศมุสลิม และมิตรประเทศ เพื่อสร้างความเข้าใจอันดีต่อกัน
๓.  นโยบายพัฒนาเศรษฐกิจอย่างสมดุลและยั่งยืน
๓.๑ มาตรการพัฒนาเสริมสร้างเศรษฐกิจในพื้นที่อย่างสมดุลและยั่งยืน  เพื่อยกระดับมาตรฐานการครองชีพของประชาชนให้มีความอยู่ดีกินดีตามฐานะ
๓.๒ มาตรการยกระดับมาตรฐานการครองชีพของประชาชน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน
๓.๓ มาตรการสร้างแรงจูงใจในการประกอบอาชีพธุรกิจในพื้นที่
๓.๔ มาตรการเยียวยากระทบในด้านเศรษฐกิจ ในพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์ความรุนแรงในพื้นที่
๔. นโยบายลดปัญหาความรุนแรงในพื้นที่
๔.๑ มาตรการเพิ่มประสิทธิภาพด้านการข่าว และการปฏิบัติการข่าวสาร (IO)
๔.๒ มาตรการรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน
๔.๓ มาตรการป้องกันการก่อเหตุร้ายเขตภายใน ๗ เมืองเศรษฐกิจ
๔.๔ มาตรการลดอิทธิพลภายในเขต ๖ เมืองของผู้ก่อเหตุรุนแรง
๔.๕ มาตรการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับตำรวจ และ อส. รวมทั้งภาคประชาชน เพื่อให้สามารถปฏิบัติงานเชิงรับแทนเจ้าหน้าที่ทหาร
๔.๖ มาตรการทำลายขบวนการยาเสพติดทุกชนิดและน้ำมัน/สินค้าหนีภาษี ให้หมดไปจากพื้นที่โดยเร็ว เพื่อลดปัญหาอิทธิพลและผลประโยชน์
๔.๗ มาตรการทำลายขบวนการผู้มีอิทธิพล และเจ้าหน้าที่ที่ประพฤติมิชอบ เพื่อลดปัญหาแทรกซ้อน
๔.๘ มาตรการควบคุมช่องทางการผ่านเข้า – ออก ตามแนวชายแดน เพื่อตัดเส้นทางการสนับสนุน
๔.๙ มาตรการกดดันและปิดล้อมตรวจค้นพื้นที่อย่างต่อเนื่อง เพื่อจำกัดเสรีในการปฏิบัติของฝ่ายก่อเหตุความรุนแรง
๔.๑๐ มาตรการเปิดช่องทางเพื่อให้ผู้ก่อเหตุความรุนแรงออกมามอบตัว 

------------------------------------------

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น