วันอาทิตย์ที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2561

Cyber Security ภัยคุกคาม และความร่วมมือในอาเซียน ( ตอนที่ 3 )


Cyber Security ภัยคุกคาม และความร่วมมือในอาเซียน ( ตอนที่ 3 )
พลโท ฤทธี  อินทราวุธ
ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงกลาโหม
หัวหน้าคณะทำงานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ กิจการอวกาศ และไซเบอร์

การประชุมเชิงสัมมนาวิชาการศูนย์อาเซียนศึกษา สถาบันวิชาการป้องกันประเทศ เรื่อง Cyber Security ภัยคุกคาม และความร่วมมือในอาเซียน ที่ โรงแรม รอยัล ฮิลส์ กอล์ฟ รีสอร์ต แอนด์ สปา จ.นครนายก เมื่อ 7
มีนาคม 2561 โดยมีผู้เข้าร่วมการประชุมสัมมนาจากหน่วยงานความมั่นคง ส่วนราชการ ภาครัฐ ภาคธุรกิจเอกชน สถาบันการศึกษา สรุปประเด็นสาระสำคัญในการแสดงปฐกถา มีดังนี้ ( ต่อจากตอนที่ 2 )

ความร่วมมือของกลุ่มประเทศอาเซียนด้านไซเบอร์
สงครามไซเบอร์ ( Cyber Warfare ) ได้ถูกหยิบยกมาเป็นประเด็นร้อนอีกครั้งหนึ่งในงาน นิทรรศการเทคโนโลยีการป้องกันและความมั่นคง ๒๕๕๖ ( Defense & Security 2013 ) ซึ่งจัด ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพค เมืองทองธานี กรุงเทพฯ ห้วงพฤศจิกายน ๒๕๕๖ ที่ผ่านมา โดยประเด็นดังกล่าวได้ถูกกำหนดให้เป็นหัวข้อหลักของการสัมมนานานาชาติ ซึ่งประกอบด้วย ประเทศสมาชิกอาเซียนและมิตรประเทศ เพื่อสร้างความตระหนักถึงภัยคุกคามด้านไซเบอร์ และการเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในเร็วๆ นี้ ประเด็นสำคัญอยู่ที่ความท้าทายของ การเปลี่ยนแปลงสงครามไซเบอร์ ที่อาจถูกมองว่าใช้เป็นเครื่องมือทางการทหาร หรือ สัญลักษณ์แห่งความขัดแย้ง ให้กลายเป็น สัญลักษณ์แห่งความร่วมมือ และเป็นสิ่งที่เชื่อมโยงความมุ่งมั่นแห่งชาติอาเซียนให้เป็นหนึ่งเดียวกัน ในปี พ.ศ. ๒๕๕๘[1]  

การประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ ASEAN Defence Minister’s Meeting Retreat (ADMM Retreat) ระหว่างวันที่ ๑๘ ๑๙ พฤศจิกายน ๒๕๕๗ ณ นครพุกาม สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา โดยการประชุม รมว.กห. อาเซียนของทั้ง๑๐ ประเทศสมาชิก ได้มีการพูดคุยถึงการพัฒนาศักยภาพของอาเซียนในการเผชิญกับความท้าทายของภูมิภาคที่เกิดขึ้น เช่น ความมั่นคงทางทะเล ภัยพิบัติโรคระบาด การก่อการร้าย ภัยจากสงครามไซเบอร์ เป็นต้น[2]

การประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียนกับรัฐมนตรีกลาโหมประเทศคู่เจรจา (ASEAN Defence Ministers’ Meeting-Plus : ADMM-Plus) ครั้งที่ ๓ จัดขึ้นเมื่อวันที่ ๔ พฤศจิกายน ๒๕๕๘ ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ที่ประชุมได้หารือเกี่ยวกับความสำคัญของกิจกรรมของคณะทำงานผู้เชี่ยวชาญทั้ง ๖ ด้าน (Experts’ Working Groups : EWGs) ได้แก่ (๑) การแพทย์ทหาร (๒) การให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการบรรเทาภัยพิบัติ (๓) ความมั่นคงทางทะเล (๔) การปฏิบัติการรักษาสันติภาพ (๕) การต่อต้านการก่อการร้าย และ (๖) การปฏิบัติการทุ่นระเบิดเพื่อมนุษยธรรม ในปี ๒๕๕๘ ในการจัดการประชุม สัมมนา การฝึกต่าง ๆ รวมทั้งได้แลกเปลี่ยนมุมมองด้านความมั่นคงในภูมิภาค โดยเน้นเรื่องความมั่นคงทางทะเลในทะเลจีนใต้ การแพร่ขยายแนวความคิดนิยมความรุนแรง การต่อต้านการก่อการร้าย ภัยคุกคามด้าน Cyber[3]

การประชุมรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมอาเซียนพลัส (ADMM Plus) เมื่อวันที่ ๒๕ พฤษภาคม ๒๕๕๙ ณ ประเทศลาว ที่ประชุมได้เห็นชอบข้อเสนอของประเทศฟิลิปปินส์ในการจัดตั้ง คณะทำงานด้านความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ คณะทำงานดังกล่าวจะทำงานในกรอบความร่วมมือ ASEAN Defense Ministers Meeting Plus (ASMM-Plus) [4]

การประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านโทรคมนาคมและเทคโนโลยีสารสนเทศ ( TELMIN : ASEAN Telecommunications and Information Technology Ministers Meeting ) ครั้งที่ 17 ณ เมืองเสียมราฐ ราชอาณาจักรกัมพูชา ในวันที่ 1 ธันวาคม 2560 และการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนด้านโทรคมนาคมและเทคโนโลยีสารสนเทศ ( TELSOM : ASEAN Telecommunications and IT Senior Officials Meetings ) ครั้งล่าสุดที่ผ่านมา การประชุมดังกล่าว เป็นการประชุมระหว่างสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ และผู้เจรจา 3 ประเทศ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ซึ่งได้มีมติเลือกประเทศไทยเป็นที่ตั้ง ศูนย์ความร่วมมือ อาเซียน-ญี่ปุ่น ( ASEAN-JAPAN Cyber Security Center ) สำหรับฝึกอบรมความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ ซึ่งการเป็นศูนย์ฝึกอบรมฯดังกล่าว ประเทศไทยจะได้รับเงินสนับสนุนจากประเทศญี่ปุ่นจำนวน 5 ล้านเหรียญสหรัฐ ในระยะเวลา 4 ปี ตั้งแต่ปี 2561-2564[5]

คณะกรรมการเตรียมการด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ พ.ศ.2560 ตามร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์[6] พ.ศ. …… ครอบคลุมทั้งในเรื่องความมั่นคงปลอดภัยของระบบและข้อมูล สิทธิเสรีภาพของประชาชน ความมั่นคงของประเทศ และการร่วมมือกันของบุคคลที่เกี่ยวข้องกับโลกไซเบอร์ในระหว่างการจัดทำกฎหมายว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ[7]
ความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์หมายความว่า มาตรการและการดำเนินการเพื่อปกป้อง ป้องกัน การส่งเสริม เพื่อรับมือและแก้ไขสถานการณ์ด้านภัยคุกคามที่จะส่งผลต่อไซเบอร์ โดยเฉพาะการให้บริการด้านระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ อินเทอร์เน็ต โครงข่ายโทรคมนาคม การให้บริการดาวเทียม ระบบกิจการสาธารณูปโภคพื้นฐาน ระบบกิจการสาธารณะสำคัญ ซึ่งเป็นเครือข่ายในระดับประเทศ เพื่อมิให้เกิดผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติ ความมั่นคงทางการทหาร ความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ และความมั่นคงทางเศรษฐกิจ

รัฐบาลตั้งเป้า ปี 61 สร้างนักรบไซเบอร์ 1 พันคน เฝ้าระวังความปลอดภัย[8]  เมื่อวันที่ 21 ก.ย.60 ที่อิมแพ็ค เมืองทองธานี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เปิดงานและแสดงปาฐกถาพิเศษ เรื่อง "ดิจิทัลกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมในประเทศไทย 4.0" ในงาน "Digital Thailand Big Bang 2017" สู่วิสัยทัศน์ของชาติเรื่องความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ทั้งนี้ดิจิทัลจะเป็นตัวเร่งการขับเคลื่อนประเทศตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0

พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ. รองนายกฯ และรมว.กลาโหม กำชับในที่ประชุมสภากลาโหม ว่า สงครามไซเบอร์ ถือเป็นอีกมิติหนึ่งของการสงครามที่มีความไวสูง โดยต้องมีการเตรียมกำลังและใช้กำลัง เช่นเดียวกับมิติสงครามอื่นๆ จึง ขอให้ นขต.กห.และเหล่าทัพ ให้ความสำคัญ ในการเร่งรัดเดินหน้าขับเคลื่อนปฏิรูปกองทัพ ตามแผนแม่บทไซเบอร์ เพื่อการป้องกันประเทศกระทรวงกลาโหม สำหรับการผนึกกำลังด้านไซเบอร์ ได้กำหนดเป้าหมายให้มีกำลังพลสำรองไซเบอร์ พร้อมทั้งขยายความร่วมมือและผนึกกำลังกับหน่วยงาน ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ[9]

                ล่าสุด การประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนารัฐบาลดิจิทัล ครั้งที่ 1/2561[10] โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานฯ ที่ประชุมเห็นชอบให้มีการจัดตั้งคณะอนุกรรมการ 4 ชุด ได้แก่
1) อนุกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนารัฐบาลดิจิทัลด้านการบริการประชาชน เพื่อพัฒนาระบบการให้บริการประชาชนด้วยดิจิทัล เพื่อให้เกิดเป็นบริการแบบเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียว (One Stop Service)     
2) อนุกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนารัฐบาลดิจิทัลด้านการบริหารราชการแผ่นดิน เพื่อพัฒนาระบบบริหารทรัพยากรภายในองค์กรภาครัฐ
3) อนุกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนารัฐบาลดิจิทัลด้านการบริหารจัดการข้อมูลเพื่อการตัดสินใจอย่างมีคุณภาพ เพื่อพัฒนาระบบข้อมูลที่ใช้ในการวางแผนและตัดสินใจของผู้กำหนดนโยบายประเทศ รวมทั้งติดตามประเมินผลการดำเนินงานทุกระดับและทุกมิติ
4 ) อนุกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนารัฐบาลดิจิทัลด้านความมั่นคงปลอดภัยในโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลภาครัฐ เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลภาครัฐที่มีความมั่นคงปลอดภัย

สรุป ประเทศต่างๆ ทั่วโลกทั้งประเทศมหาอำนาจ กลุ่มประเทศอาเซียน รวมถึงประเทศเพื่อนบ้าน ต่างมีความตระหนักถึงภัยคุกคามด้านไซเบอร์ มีการเตรียมกำลัง พัฒนาสร้างเสริมศักยภาพ และประสานความร่วมมืออย่างเป็นรูปธรรม สำหรับประเทศไทยเรามีความพร้อมรึยัง ?  ทั้งการจัดตั้งองค์กรที่มีศักยภาพและความเป็นเอกภาพในการประสานความร่วมมือและการผนึกกำลังกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ หากเรามีแค่นโยบาย มียุทธศาสตร์ มีคณะกรรมการและคณะอนุกรรมการ แต่องค์กรที่จะเป็นกลไกขับเคลื่อนและปฏิบัติการอย่างเป็นรูปธรรม ในการเตรียมกำลัง การพัฒนาสร้างเสริมศักยภาพ การประสานความร่วมมือ และการผลึกกำลังอย่างเป็นรูปธรรม ยังไม่เดินหน้าไปถึงไหน ต่างคนต่างทำกันเอง เราก็คงห่างไกลจากความพร้อมในการรับมือภัยคุกคามด้านไซเบอร์ เพราะ สงครามไซเบอร์ One man show เอาตัวไม่รอด ! หรือเราจะเป็นได้เพียงประเทศ นาโต้ NATO ( No Action Talk Only) ?
-----------------------------------------------
Cyber Security ภัยคุกคาม และความร่วมมือในอาเซียน ตอนที่ 1 )  http://rittee1834.blogspot.com/2018/03/cyber-security-1-cybersecurity.html
Cyber Security ภัยคุกคาม และความร่วมมือในอาเซียน ตอนที่ 2 ) http://rittee1834.blogspot.com/2018/03/cyber-security-2.html

อ้างอิง :

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น