วันจันทร์ที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

สถานการณ์อาจสร้างวีรบุรุษ แต่กระแสสื่อโซเชียลอาจสร้างนรก

สถานการณ์อาจสร้างวีรบุรุษ แต่กระแสสื่อโซเชียลอาจสร้างนรก
โดย พลตรี ฤทธี  อินทราวุธ
ผู้อำนวยการศูนย์ไซเบอร์กองทัพบก

สังคมปัจจุบันได้ให้ความสนใจกับกระแสข่าวในโลกโซเชียลมากเพิ่มขึ้นทุกวัน ทั้งในเรื่องที่ดีเป็นประโยชน์ต่อสังคมและเรื่องที่ไม่ดีสามารถสร้างกระแสได้ชั่วข้ามคืน เพราะภาพเหตุการณ์ต่างๆ มักถูกบันทึกได้โดยง่ายจาก กล้องโทรศัพท์มือถือ กล้องติดหน้ารถ หรือกล้อง CCTV ที่ติดตามสถานที่ต่างๆ และถูกนำมาเผยแพร่ทางสื่อสังคมออนไลน์หรือสื่อโซเชียลได้อย่างรวดเร็ว มีการแชร์เผยแพร่กันอย่างกว้างขวาง รวมทั้งสื่อโทรทัศน์ทั้งรายการข่าว และ
สาระบันเทิงต่างๆ มักนำประเด็นมาขยายกระแสข่าวต่อ บางรายรุ่งดังเป็นพลุแตก บางรายร่วงจนแทบจะหาที่ยืนในสังคมไม่ได้ บางเหตุการณ์เกิดกระแสขึ้นเพราะความจงใจ เช่น การแต่งตัววาบหวิวมาขายของ บางกระแสขึ้นเพราะความบังเอิญ เช่น คนมาพบเห็นเหตุการณ์แล้วประทับใจในความกล้าหาญ เสียสละ จิตอาสา หรือความมีน้ำใจแล้วนำเอามาโพสต์  บางรายเกิดกระแสเพราะรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เช่น การโพสต์เหตุการณ์ที่เห็นโดยที่ไม่ทราบข้อเท็จจริง บางรายเกิดกระแสเพราะความสนุกคึกคะนอง เช่น พวกที่ชอบเล่นพิเรนท์ต่างๆ บางรายเกิดกระแสเพราะความประมาท เช่น การขับขี่ยานพาหนะ และบางรายเกิดกระแสเพราะความขาดสติ เช่น การทะเลาะวิวาทบันดาลโทสะ เป็นต้น ซึ่งเหตุการณ์ต่างๆ ที่ถูกนำมาเผยแพร่บนสื่อสังคมออนไลน์หรือสื่อโซเชียลทั้งคนอื่นนำมาโพสต์ หรือตนเองนำมาโพสต์ มักจะถูกกระแสสังคมวิพากษ์วิจารณ์ทั้งในทางบวกและทางลบ ที่เรามักเรียกว่า “ สถานการณ์สร้างวีรบุรุษ แต่บางกระแสโซเชียลอาจสร้างนรกให้กับใครบางคน
การนำภาพเหตุการณ์ต่างๆ ทั้งภาพนิ่ง หรือภาพเคลื่อนไหวมาเผยแพร่บนสื่อสังคมออนไลน์หรือสื่อโซเชียลกำลังกลายเป็นประเด็นทางสังคมด้านพฤติกรรมการเลียนแบบ โดยไม่คำนึงถึงข้อเท็จจริงหรือความเหมาะสม ใครเห็นอะไรอยากจะลงเผยแพร่อะไรก็ทำไปโดยไม่ยังคิด บางครั้งทำให้สังคมเข้าใจผิดและเกิดผลกระทบเสียหายต่อครอบครัวและบุคคลในเหตุการณ์ เช่นกรณี ผู้ป่วยออทิสติคบน BTS หรือ หนุ่มติดกล้องจิ๋วในรองเท้าบน BTS เป็นต้น สิ่งเหล่านี้น่าจะเป็นบทเรียนให้กับสังคมและผู้คนที่ชอบโพสต์อะไรลงไปแบบมือไวใจเร็ว เมื่อเหตุการณ์มันพลิกมุมกลับ คำว่าเสียใจหรือขอโทษ คงช่วยอะไรเขาได้ไม่มากนัก เพราะเกิดผลกระทบเสียหายไปแล้ว จะมาแก้ตัวแก้ข่าวกันภายหลังเรื่องก็มักจะไม่มีใครตามมาดูข้อเท็จจริงกันเท่าไหร่หรือมีความสำคัญน้อยลงไป จึงควร “ นึกถึงหัวอกเขา หัวอกเรา ”
เหตุการณ์บางกรณีที่เกิดขึ้นในพื้นที่สาธารณะ บางครั้งคู่กรณีอาจจะถูกผู้ที่ประสบพบเห็นนำภาพเหตุการณ์ไปลงเผยแพร่บนสื่อสังคมออนไลน์หรือสื่อโซเชียล หรือคู่กรณีบางรายนำเอาไปลงเองเพื่อสร้างภาพความชอบธรรมให้กับตนเอง ถ้าเป็นข้อเท็จจริงก็คงจะเป็นประโยชน์ต่อตนเองและทางคดีความ แต่ถ้าเป็นการแต่เสริมเติมเรื่องที่ผิดจากข้อเท็จจริงแล้ว กระแสสังคมโดยเฉพาะบนโลกโซเชียลก็มักจะถูกตีกลับอย่างรุนแรง ดังปรากฏเป็นวลีเด็ดๆ อยู่หลายกรณี ดังนั้น ใครจะทำอะไรในที่สาธารณะควรจะต้องมีสติ และระงับควบคุมอารมณ์ของตนไว้ให้ดี อย่าปล่อยให้หลุด หรือสร้างเรื่องดราม่า เพราะโบราญว่า “ หน้าต่างมีหู ประตูมีตา ”
การใช้สื่อสังคมออนไลน์หรือสื่อโซเชียลเผยแพร่สิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมนับสิ่งที่ดี แต่ก็มีบางรายมักใช้ช่องทางดังกล่าวไปในทางที่ผิดกฎหมาย เช่น การล่อลวงไปในทางที่ผิด การหลอกลวงให้หลงเชื่อ การโฆษณาเกินจริง การยั่วยุทางเพศ การเผยแพร่สิ่งลามกอนาจาร หรือการนำมาสร้างเร็ตติ้งให้กับตนเองในที่ด้านที่ผิดศีลธรรม ซึ่งเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายตาม พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ และอาจจะถูกดำเนินคดีตามกฎหมายอาญาแถมไปด้วย ส่วนการรณรงค์แคมเปญสร้างกระแสการตลาดต่างๆ ตามที่เป็นข่าว จะต้องดูความเหมาะสมกับบริบทของสังคม ขนบธรรมเนียม จารีตประเพณีไทย ซึ่งจะมีความแตกต่างจากหลายๆ ประเทศที่ถือเป็นเรื่องปกติ และไม่นำไปสู่ พฤติกรรมการเลียนแบบ ซึ่งอาจจะก่อให้เกิดปัญหาสังคมตามมาภายหลัง
การใช้สื่อสังคมออนไลน์หรือสื่อโซเชียลเผยแพร่สิ่งที่เป็นเรื่องเตือนสติคนในสังคมให้มีความตระหนักในการโพสต์ การแชร์ข้อมูลข่าวสาร และมีสติในการควบคุมพฤติกรรมหรืออารมณ์เพื่อไม่ให้ตนเองตกเป็นเหยื่อทางสื่อโซเชียลจึงเป็นเรื่องสำคัญ เรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้นและเป็นกระแสในโลกโซเชียลทุกวันนี้ ทั้งเรื่องที่ดีควรแก่การเผยแพร่เพื่อยกย่องสรรเสริญ และเรื่องที่ไม่ดีควรดูไว้เป็นอุทาหรณ์หรือบทเรียนทางสังคมและตนเอง ไม่ใช่คอยแต่โหนกระแสกระหน่ำซ้ำเติมด้วยความสะใจคงไม่เกิดประโยชน์อะไรต่อสังคมมากนัก หรือบางครั้งไปโหนกระแสผิดฝาผิดฝั่งก็อาจจะโดนกระแสตีกลับมาทำให้ตนเองได้รับผลกระทบเสียหายได้เช่นกัน ดังนั้นทุกคนและคนรอบข้างควรจะต้องระมัดระวังและเตือนสติกันอยู่ตลอดเวลาในการควบคุมพฤติกรรมหรืออารมณ์เพื่อไม่ให้ตนเองตกเป็นเหยื่อทางสื่อโซเชียล เช่นตัวอย่างคลิป ของ โน้ส อุดม “ดม เรียก สติ”



--------------------------------------------

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น